PropertyGuru Thailand Property Awards การประกาศรางวัลด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จัดขึ้นอย่างยาวนานที่สุดในประเทศไทย เตรียมกลับมาจัดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งเป็นปีที่ 18 พร้อมรับความต้องการอสังหาฯ ที่เติบโตหลังโควิด-19 และเปิดโอกาสให้บริษัทได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาและโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโดดเด่นและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ ทั้งในด้านการออกแบบ และการพัฒนาโครงการที่ดีที่สุดของประเทศไทย รวมถึงเป็นการยกมาตรฐานระดับโกลด์ในด้านอสังหาริมทรัพย์
จูลส์ เคย์ ผู้จัดการทั่วไป พร็อพเพอร์ตี้กูรู เอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ อวอร์ดส์ แอนด์ อีเวนต์ กล่าวว่า การจัดงาน “PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 18” เวทีประกาศรางวัลคุณภาพด้านอสังหาริมทรัพย์ที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยมอบให้แก่บริษัทและโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโดดเด่นและสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับในด้านการออกแบบและการพัฒนาโครงการ ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่อสังหาริมทรัพย์เมืองไทยกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ ด้านผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างมีมุมมองต่อตลาดในเชิงบวก ส่วนกำลังซื้อในประเทศยังคงมีต่อเนื่อง สำหรับต่างประเทศและนักลงทุนก็เริ่มกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหลังการเดินทางและการท่องเที่ยวกลับมาสู่ภาวะปกติ
โดยการจัดประกาศรางวัลของ ProperytyGuru ในทั่วภูมิภาคนั้นตัดสินโดยคณะกรรมการอิสระ มีความน่าเชื่อถือ และจัดต่อเนื่องมายาวนาน PropertyGuru Thailand Property Awards ยังเป็นการช่วยผลักดันการสร้างระดับมาตรฐานของวงการอสังหาริทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
โดย Thailand Property Market Report ฉบับล่าสุดซึ่งจัดทำโดย DDproperty ระบุว่า ดัชนีความต้องการที่อยู่อาศัยโดยรวมในไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้น 47% เปรียบเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 (ไตรมาส 4/2562) ในขณะที่ดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปี 2566 มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ การที่ประเทศจีนได้เปิดประเทศอีกครั้ง คาดว่าจะเป็นการช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อไปเช่นกัน
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยพื้นที่ในเขตปริมณฑลและบริเวณรอบนอกของกรุงเทพฯ ที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้า SRT สายสีแดง, รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว พบว่ามีการเติบโตสูงสุดในไตรมาส 4/2565
ด้าน สุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (JLL) และประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล “PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 18” กล่าวว่า ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ไทยนับได้ว่าจัดอยู่ในระดับต้นๆ ของทั้งเวทีระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลก ทั้งนี้ จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 แต่ก็มีประเทศที่เสนอผลงานเข้าร่วมมากกว่า 200 ประเทศ
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563-2564 เป็นสถานการณ์ที่ท้ายทายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิตและการอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป
หากแยกออกเป็นแต่ละตลาด พบว่าตลาดอาคารสำนักงาน การเกิดโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้พื้นที่อาคารสำนักงานมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการพึ่งพาเทคโนโลนีมากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานและสิ่งแวดล้อม จึงเลือกเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานสร้างใหม่ที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าในประเทศไทย 10 ล้านตร.ม. ในจำนวนนี้เป็นอาคารสำนักงานเกรดพรีเมียม 1.5 ล้านตร.ม. โดยในอีก 18 เดือนข้างหน้าจะมีพื้นที่อาคารสำนักงานเหลือว่างมากขึ้น เนื่องจากจะมีซัพพลายใหม่ๆ เข้ามาในตลาด อย่างไรก็ตาม อัตราค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานจะไม่ได้สูงขึ้น ดังนั้นอาคารสำนักงานให้เช่าที่เปิดให้บริการมานานแล้ว อาจจะต้องมีการรีโนเวท พร้อมให้ราคาที่จะสามารถรักษาลูกค้าเก่าและดึงลูกค้าใหม่เข้ามาได้
คาดคอนโดฟื้นตัวใน 12-18 เดือนข้างหน้า
ในส่วนของตลาดคอนโดมิเนียม คาดว่ายอดขายในปีนี้จะดีขึ้น จากความมั่นใจที่เกิดจากเปิดประเทศและการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยในส่วนของคอนโดมิเนียมระดับพรีเมียมมีซัพพลายเหลืออยู่ในตลาดไม่มาก เนื่องจากถูกดูดซับไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนคอนโดมิเนียมในระดับราคากลาง-ล่าง ยังคงมีสินค้าเหลือขายจำนวนมาก เนื่องจากธนาคารมีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง ทั้งนี้ คาดว่าตลาดคอนโดมิเนียมค่อยๆ ฟื้นตัว โดยจะใช้ระยะเวลา 12-18 เดือน
สำหรับธุรกิจอาคารคลังสินค้าให้เช่า พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ประกอบการรายใหญ่นำที่ดินที่มีมาพัฒนาโครงการอาคารคลังสินค้าให้เช่าแบบ Built-to-Suit หรือคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของผู้เช่า อย่างไรก็ตามอัตราค่าเช่าคลังสินค้านับได้ว่าอยู่ในระดับที่ยังไม่สูง ขณะที่ราคาที่ดินสูงขึ้นโดยตลอด ทำให้ต้นทุนจากการพัฒนาอาคารคลังสินค้าสูงจนอาจไม่สามารถกำหนดราคาค่าเช่าให้สอดคล้องกับอัตราค่าเช่าพื้นที่ที่ยังต่ำอยู่
ด้านธุรกิจโรงแรม พบว่ายังเป็นที่ต้องการซื้อของนักลงทุนชาวต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทย โดยในปี 2566 คาดว่าอัตราการซื้อ-ขายจะกลับมาอยู่ที่ระดับ120,000 ล้านบาท เทียบเท่าค่าเฉลี่ยของอัตราการซื้อ-ขายใน 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ วิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) และ Think of Living กล่าวว่า ในปีนี้คาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยเสริมหลายประการ ซึ่งรวมถึงการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันยังไม่พบอุปทานส่วนเกินในตลาด ขณะที่สต็อกบ้านที่เหลือค้างอยู่ในระบบปัจจุบันจะค่อยๆ ทยอยระบายออก อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อบ้านต้องเตรียมพร้อมทางการเงินสำหรับปีนี้ไว้ด้วย เนื่องจากต้นทุนการสร้างที่อยู่อาศัยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราของดอกเบี้ย และปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบต่อราคาของอสังหาริมทรัพย์
ตลาดชี้วัดที่น่าสนใจ ด้านความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย คนไทยประมาณ 50% ยังมีความสนใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัย แต่จากทำสำรวจ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าคนตั้งใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ลดลงจาก 57 จุด เหลือ 52 จุด ซึ่งเหตุผลของความต้องการซื้อก่อนหน้านี้ คือ ต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว การ WFH ทำให้มีกิจกรรมทำที่บ้านมากขึ้น และใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบวามีความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนสูงขึ้น จาก 29 จุดเป็น 33 จุด ตรงนี้สะท้อนถึงความมั่นใจของการลงทุน เพราะเชื่อว่าการลงทุนตอนนี้เป็นโอกาสมากกว่าก่อนหน้านี้ที่ภาวะตลาดซบเซาจากสถานการณ์โควิด-19
หลังโควิดคนรุ่นใหม่เลือกเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ตลาดเช่า พบว่า คนมีความต้องการเช่าสัดส่วนที่สูงขึ้น แม้ว่าเหตุผลอันดับหนึ่ง ยังไม่ต่างไปจากเดิมคือคนเช่ายังไม่พร้อมจะซื้อ แต่ที่น่าสนใจพบวา คนยุคนี้เลือกที่จะเช่ามากขึ้น เพราะยังไม่ต้องการลงหลักปักฐานในที่ใดที่หนึ่ง จากผลการสำรวจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจาก 18 จุดเพิ่มเป็น 36 จุด เป็นการเติบโตที่มีนัยยะสำคัญ สะท้อนภาพการเปิดเมือง การโยกย้ายสถานที่ทำงาน และคนต้องการความยืดหยุ่นของเรื่องที่อยู่อาศัยมากขึ้น
สำหรับ “PropertyGuru Thailand Property Awards ครั้งที่ 18” มีกำหนดการต่างๆ ของการตัดสินรางวัลในปี 2566 ดังนี้
ปัจจุบันเปิดรับการเสนอชื่อผู้พัฒนาและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทางออนไลน์ที่ asiapropertyawards.com/nominations
16 มิถุนายน 2566 – ปิดรับการเสนอชื่อฯ
3 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566 – ทางกรรมการตรวจสอบและเยี่ยมชมโครงการ
9 สิงหาคม 2566 – ดำเนินการตัดสินรางวัลรอบสุดท้าย
1 กันยายน 2566 – งานกาล่าดินเนอร์และพิธีมอบรางวัล จัดขึ้นในกรุงเทพฯ
8 ธันวาคม 2566 – งานกาล่าดินเนอร์และพิธีมอบรางวัลระดับภูมิภาค
สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมชิงรางวัลในทุกประเภทจะต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นโดยคณะกรรมการอิสระ นำโดย นางสุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (JLL) และประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาการให้คำปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ สถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน และสาขาการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน ผ่านการดูแลกระบวนการตัดสิน นำโดยนายพอล แอชเบิร์น HLB Thailand สำนักงานบัญชีและที่ปรึกษาชั้นนำระดับนานาชาติ มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในด้านความยุติธรรมและความโปร่งใส
ทั้งนี้ ผู้ชนะรางวัล PropertyGuru Thailand Property Awards ในปีนี้ จะได้ร่วมเข้าชิงรางวัลระดับภูมิภาคในงาน PropertyGuru Asia Property Awards Grand Final 2023 ครั้งที่ 18 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 นี้ ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ