เปิดมุมมอง “โอภาส ศรีพยัคฆ์” กับ มาตรการ LTV รอบใหม่

เปิดมุมมอง “โอภาส ศรีพยัคฆ์” กับ มาตรการ LTV “กองทุนค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน”

โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) เปิดมุมมองมาตรการ LTV จะมีผลดีอย่างยิ่ง ถ้านำรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาใช้ ในรูปแบบ กองทุนค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เหมือนการใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่เข้ามาช่วยค้ำประกันผู้ประกอบการ SMEs สร้างความมั่นใจให้ธนาคารรปล่อยสินเชื่อ

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาตรการการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เป็นร้อยละ 100 (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ กรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ว่า มาตรการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้น จากหลักเกณฑ์เดิมที่ผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 (สัญญาที่ 2) ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 10% หากผ่อนสัญญาแรกมาแล้ว 2 ปี หรือมากกว่านั้น และถ้าผ่อนสัญญาที่ 1 น้อยกว่า 2 ปี จะต้องดาวน์ 20% และบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป (สัญญาที่ 3 ขึ้นไป) ต้องวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ 30%

“มาตรการ LTV ที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะทำให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แทนที่จะต้องมีเงินก้อนเพื่อวางดาวน์ร้อยละ 10 -30 ของมูลค่าหลักประกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนเพื่อมาวางดาวน์ ช่วยให้ผู้ซื้อที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความสามารถในการผ่อนชำระแต่ไม่มีเงินก้อนสามารถที่จะเป็นเจ้าของบ้านได้ โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการผ่อนคลายนี้เป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่พร้อมโอน ซึ่งมีอยู่ในตลาดตอนนี้ประมาณ 750,000 ล้านบาท เป็นส่วนของคอนโดมิเนียมประมาณ 300,000 ล้านบาท และแนวราบประมาณ 450,000 ล้านบาท ในส่วนของ LPN เองมีสินค้าที่พร้อมอยู่พร้อมโอนประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้”

นอกจากมาตรการผ่อนคลาย LTV แล้ว มาตรการสำคัญที่จะสามารถกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้คือ การผ่อนคลายความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ซื้อบ้าน โดยปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ประมาณ 40-50% ถ้าสถาบันการเงินผ่อนคลายการพิจารณา หรือภาครัฐมีการพิจารณาสร้างเครื่องมือมาช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้ เช่น การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้ ในรูปแบบการจัดตั้งกองทุนค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อมาช่วยสถาบันการเงินกรณีที่มีหนี้เสียของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ตามสัญญา หรือ เปิดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถซื้อคืนที่อยู่อาศัยกรณีที่ลูกค้ามีปัญหาผิดนัดชำระ เป็นต้น

“ปกติผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเองไม่มีใครที่จะปล่อยให้บ้านถูกยึด ทำให้โอกาสที่จะเป็นหนี้เสียมีสัดส่วนที่ต่ำ จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าอัตราส่วนหนี้เสียของภาคสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า 4% ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการในการอนุมัติสินเชื่อ ผนวนกเข้ากับการสร้างเครื่องมือมาช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อบ้านที่มีความต้องการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย จะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้ดี และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *