เม็ดเงินลงทุนจีนดันดีมานด์พื้นที่อุตสาหกรรม

ซีบีอาร์อี สำรวจยอดขายที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม (SILPs) ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ของผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 50% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นพื้นที่ขายรวม 1,000 ไร่ โดย 146 ไร่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนของอมตะซึ่งพัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมสำหรับผู้ผลิตจากจีนโดยเฉพาะ

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ในภาคการผลิตของไทยปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 130% จากปีก่อนหน้า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายได้รายงานว่า ผู้ผลิตจีนมีความต้องการที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “Made in China” หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในจีนนั้นมีอัตราภาษีที่สูงขึ้น

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคการผลิตของไทย

 

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการที่ผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตเนื่องจากสงครามการค้า แต่ไทยเองก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นแหล่งที่มาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภาคการผลิตของไทยนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 แต่อาจถูกแทนที่โดยจีนในอนาคต

ซีพีแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับกว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของจีน ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ในจังหวัดระยอง บนพื้นที่กว่า 3,068 ไร่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักลงทุนจีนใน 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ศูนย์กลางการแพทย์ ดิจิตอล และหุ่นยนต์

อดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ไม่ใช่เพียงแค่ผู้พัฒนาที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากการที่จีนมีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย บริษัทด้านอี-คอมเมิร์ซของจีนก็ทำให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ (MLP) ในไทยให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อปีที่แล้วได้มีการประกาศการร่วมทุนระหว่าง WHA ซึ่งเป็นผู้พัฒนาพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กับบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของจีนสองแห่ง คือ อาลีบาบา และ JD.com เพื่อสร้างศูนย์จัดเก็บ ค้นหาและบรรจุสินค้า รวมทั้งบริการจัดส่ง (Fulfilment Centre)”

ซีบีอาร์อีเชื่อว่าอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยกำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก โดยมีบริษัทด้านอี-คอมเมิร์ซจากจีนเป็นตัวผลักดันให้ความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่กำลังดำเนินอยู่จะเป็นประโยชน์ต่อตลาดที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมของไทยจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *