โดย…กัญสุชญา สุวรรณคร
ประเด็นร้อนของคนวงการอสังหาฯ เวลานี้ หนีไม่พ้น มาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยนโยบาย Macroprudential ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศว่าจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยปรับอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำ 20% หรือคิดเป็นสินเชื่อ ต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) ที่ 80% สำหรับบ้านหลังที่สองและบ้านที่มีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท
ส่วนบ้านหลังแรกยังให้วางเงินดาวน์ ระดับ 5-10% หรือคิดเป็นแอลทีวีที่ 90-95% แต่การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แก่ลูกค้าในส่วนที่เพิ่มเติมเพื่อซื้อเครื่องตกแต่งบ้าน หรือ สินเชื่อท็อปอัพ รวมกันต้องไม่เกิน 100% ของหลักประกัน
อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยในการประชุมชี้แจงและเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ กรณีที่ธปท.จะมีแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้เติบโตแบบร้อนแรง และยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ แม้ว่าจะมีโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเล เช่น ภูเก็ต พัทยา ซึ่งหากจะควบคุมจำนวนซัพพลายใหม่ควรจะไปควบคุมการให้สินเชื่อโครงการ (พรีไฟแนนซ์) ของธนาคารมากกว่า
อสังหาฯ อ้อนขอใช้กับบ้านหลังที่ 3 แนะควรเลื่อนใช้เป็น 1 ก.ค. 62
ทั้งนี้ อยากเสนอให้ใช้มาตรการกับสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับบ้านหลังที่ 3 ขึ้นไป แต่ไม่ควรจะรวมบ้านจัดสรร เพราะเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ไม่มีการเก็งกำไร และให้เลื่อนการใช้เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2562 จากที่เดิมวันที่ 1 ม.ค. 2562 เนื่องจากต้องการให้มีเวลา ทั้งผู้ที่ซื้อแล้ว และรอโอนกรรมสิทธิ์และกำลังซื้อได้เตรียมตัวและปรับตัว
เช่น ผู้ซื้อที่รอการโอนกรรมสิทธิ์ที่เป็นบ้านหลังที่สองทำสัญญากู้ตามเงื่อนไขแอลทีวีเดิม แต่จองซื้อตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา แค่รอคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2562 หรือ 2563 จะได้ไม่มีปัญหาที่จะไม่สามารถหาเงินส่วนต่างมาจ่าย ณ วันโอนกรรมสิทธิ์ หรือ ผู้ซื้อใหม่จะได้มีเวลาเตรียมตัวในการพิจารณาความสามารถการวางเงินดาวน์ที่มากขึ้น รวมถึง อุปทานที่สร้างเสร็จคงเหลือเป็นสินค้าที่ไม่มีระยะเวลาในการผ่อนดาวน์ได้มีโอกาสเร่งระบายออก เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องและกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (แอ็นพีแอล)
ด้าน อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า อยากให้ใช้หลักเกณฑ์แอลทีวีเดิมไปก่อนอย่างน้อย 3-6 เดือน หากต้องการออกมาตรการจริง อยากให้ดำเนินการเป็นขั้นบันได หรือ ทยอยปรับ เพื่อให้ผู้ประกอบการ และประชาชนได้มีเวลาปรับตัวและเตรียมความพร้อม เนื่องจากมองว่าการดำเนินนโยบายไม่สามารถทำได้เร็ว ไม่เช่นนั้นอาจกระทบกับลูกค้ารายย่อยได้ นอกจากนี้อาจจะไม่นับรวมพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพราะเป็นพื้นที่ที่จะมีมีคนเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยจากถิ่นอื่น นอกจากนี้อยากให้ธปท. แยกประเภทของสินเชื่อออก เช่น สินเชื่อบุคคล หรือ การซื้อประกันชีวิตพ่วง ให้คำนวณหรือคิดเฉพาะสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น
คาดกระทบยอดขาย 6%
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นตรงกับผู้ประกอบการหลายๆ ที่อยากให้ไปดูแลบ้านสัญญาที่ 3 มากกว่า เพราะปัจจุบันลูกค้าของบริษัทมีอยู่ราว 20% ที่เป็นลูกค้าที่มีการกู้สัญญาที่ 2 ขณะที่กลุ่มบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทมีไม่มากนัก ในระยะสั้นช่วงปีนี้มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัท ขณะนี้พบว่ามีลูกค้าที่เตรียมจะโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงต้นปี 2562 ติดต่อต้องการที่จะเร่งโอนก่อนในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากมาตรการออกมาบังคับใช้อาจจะกระทบต่อยอดขายบ้างในปี 2562 ราว 5-6% เพราะลูกค้าที่ซื้อสัญญาที่ 2 อาจจะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไป
#สินเชื่อที่อยู่อาศัย #สินเชื่อบ้าน #สินเชื่อคอนโด #มาตรการธปท #ธปท